การติดตั้งถังดับเพลิง หรือเครื่องดับเพลิงชนิดมือถือ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยลดความเสียหาย รวมไปถึงการสูญเสียของทรัพย์สินที่เกิดจากเพลิงไหม้ โดยทุกอาคาร บ้านพัก ที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีถังดับเพลิงติดตั้งเพื่อความปลอดภัย และตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
แม้ว่าถังดับเพลิงจะเป็นอุปกรณ์ที่หลายคนน่าจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง แต่ทุกคนทราบหรือไม่ครับ ว่าจริงๆ แล้วชนิดของถังดับเพลิงมีกี่ชนิด หรือ ถังดับเพลิงมีกี่ประเภท ? ทั้งนี้ประเภทของถังดับเพลิงชนิดต่างๆ จะแบ่งตามเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ เช่น ไม้ พลาสติก น้ำมัน ก๊าซไวไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
บทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจว่าถังดับเพลิงมีกี่ชนิด เพลิงไหม้แต่ละประเภทควรใช้ถังดับเพลิงแบบใด เนื่องจากการใช้ถังดับเพลิงผิดประเภท อาจจะทำให้เกิดอันตรายมากกว่าเดิม พร้อมทั้งช่วยให้คุณเข้าใจคุณสมบัติของถังดับเพลิงแต่ละประเภท และสามารถเลือกถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับการใช้งานได้
ประเภทของเพลิงไหม้มีอะไรบ้าง แต่ละ class คืออะไร
ถังดับเพลิงมีกี่ชนิด ? ถังดับเพลิงแบ่งตามการใช้งาน และสาเหตุหลักของการเกิดเพลิงไหม้ที่มีองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความร้อน อากาศ และเชื้อเพลิง ซึ่งเชื้อเพลิงเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดประเภทเพลิงแต่ละประเภท โดยสามารถแบ่งประเภทเพลิงออกเป็นทั้งหมด 5 ประเภท นั่นคือเพลิง class A, class B, class C, class D และ class K เพลิงแต่ละชนิดมีรายละเอียดดังนี้
- เพลิงไหม้ประเภท A (Ordinary Combustibles)
เพลิงไหม้ class A มีสาเหตุมาจากเชื้อเพลิงธรรมดาที่ติดไฟง่าย หรือของแข็ง ที่สามารถพบได้ทั่วไปตามอาคาร ที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้า เช่น ไม้ ผ้า ขยะ พลาสติก กระดาษ เป็นต้น ซึ่งเพลิงประเภท A สามารถดับได้ด้วยน้ำเปล่า
- เพลิงไหม้ประเภท B (Flammable Liquids)
เพลิงไหม้ class B มีสาเหตุมาจากเชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวที่สามารถติดไฟ และก๊าซที่สามารถติดไฟได้ โดยของเหลวที่สามารถติดไฟมักมีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำมันดิบ น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าซ ที่สามารถพบได้ตามปั๊มน้ำมัน หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และโรงงานที่ผลิตสีบางชนิด โดยเพลิงประเภท B สามารถดับได้ด้วยการตัดออกซิเจนในอากาศ
- เพลิงไหม้ประเภท C (Electrical Equipment)
เพลิงไหม้ class C มีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลเวียนอยู่ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ไหลเวียนอยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดความร้อนสูง หากอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดอาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าจัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ได้ โดยเพลิงไหม้ประเภท C จำเป็นต้องตัดระบบไฟฟ้าก่อนทำการดับเพลิงทุกครั้ง
- เพลิงไหม้ประเภท D (Combustible Metals)
เพลิงไหม้ class D มีสาเหตุมาจากโลหะที่สามารถติดไฟได้ ที่สามารถพบได้ตามห้องปฏิบัติการ ห้องทดลอง และโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานโลหะ เช่น Titanium, Aluminium, Potassium และ Magnesium เป็นต้น โดยเพลิงประเภท D ไม่สามารถดับเพลิงได้ด้วยน้ำเปล่า
- เพลิงไหม้ประเภท K (Combustible Cooking)
เพลิงไหม้ประเภทนี้มีสาเหตุมาจากน้ำมันที่ใช้ในครัว ไขมันสัตว์ ของเหลวที่ใช้ประกอบอาหาร สามารถพบได้ตามห้องครัว ร้านอาหาร หรือห้องอาหารตามโรงแรม เป็นต้น
ประเภทของถังดับเพลิง
ถังดับเพลิงมีกี่ชนิด ? ถังดับเพลิงแต่ละชนิดเหมาะกับการดับเพลิงประเภทใด ? ถือเป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยๆ ในความเป็นจริงแล้วการใช้ถังดับเพลิงผิดชนิดอาจทำให้เกิดอันตรายมากกว่าเดิม เนื่องจากสารที่บรรจุในถังดับเพลิงแต่ละประเภทแตกต่างกัน การใช้จึงแตกต่างกัน ดังนั้นควรเลือกถังดับเพลิงให้ถูกประเภทและเหมาะสมกับการใช้งาน โดยถังดับเพลิงประเภทต่างๆ มีดังนี้
ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 )
ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Dioxide Extinguishers ข้างในถังจะบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อฉีดออกมาจะมีลักษณะเป็นไอเย็นจัด คล้ายกับน้ำแข็งแห้ง ช่วยลดความร้อนของเพลิงไหม้ได้ เครื่องดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ตัวถังจะมีสีแดง และบริเวณปากหัวฉีดจะกว้างมากกว่าถังดับเพลิงชนิดอื่นๆ
ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถดับเพลิงไหม้ประเภท B และ C ได้ ถังดับเพลิง Co2 จึงเหมาะสำหรับดับเพลิงในโรงงานขนาดใหญ่ โรงอาหาร และห้องเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical)
ข้างในถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งจะบรรจุผงเคมีแห้ง และอัดก๊าซไนโตรเจนที่มีคุณสมบัติในการระงับปฏิกิริยาเคมีของการเกิดเพลิงไหม้ได้ เมื่อฉีดออกมาจะมีลักษณะเป็นฝุ่นผงเคมี ฟุ้งกระจายทั่วบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งส่วนใหญ่ตัวถังจะมีสีแดง โดยถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ถือเป็นถังดับเพลิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย และสามารถใช้ดับเพลิงไหม้ได้หลายประเภท
ถังดับเพลิงชนิดนี้สามารถใช้ดับเพลิงไหม้ประเภทA, B และ C และเหมาะกับการใช้ภายในอาคาร บ้านพัก ที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม
ถังดับเพลิงชนิดโฟม (Foam Extinguishers)
ถังดับเพลิงชนิดโฟม หรือ Foam Extinguishers ในถังจะบรรจุน้ำผสมโฟมเข้มข้น AR AFFF เมื่อฉีดออกมาแล้วจะมีลักษณะเป็นฟองโฟมปกคลุมเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ ทำให้เพลิงขาดออกซิเจน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ ถังดับเพลิงชนิดโฟมตัวถังมักมีสีเงิน และหัวฉีดยาวกว่าหัวฉีดถังดับเพลิงประเภทอื่นๆ
ถังดับเพลิงชนิดโฟมสามารถใช้ดับเพลิงไหม้ประเภท A และ B จึงเหมาะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิง และสารระเหยติดไฟ และปั๊มน้ำมัน ข้อควรระวังของถังดับเพลิงชนิดโฟม คือ ไม่สามารถใช้กับเพลิงไหม้ประเภท C ได้ เพราะถังดับเพลิงชนิดโฟมสามารถนำไฟฟ้าได้
ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (Water Extinguishers)
ถังดับเพลิงสูตรน้ำ หรือ Water Extinguishers ภายในถังจะบรรจุน้ำธรรมดาและก๊าซ ตัวถังมักเป็นสีฟ้า หรือ สีเงิน อาจจะทำให้สับสนกับถังดับเพลิงชนิดโฟม ควรระมัดระวังในการเลือกซื้อใน ถังดับเพลิงประเภทนี้สามารถใช้ดับเพลิงไหม้ประเภท A ได้ จึงเหมาะกับภายในอาคาร บ้านพัก ที่อยู่อาศัย
ถังดับเพลิงสูตรน้ำ (Low Pressure Water Mist)
ถังดับเพลิงสูตรน้ำ หรือ ถังดับเพลิงสูตรละอองน้ำแรงดันต่ำ PurePlus ถังดับเพลิงชนิดนี้พิเศษกว่าถังดับเพลิงชนิดน้ำ สามารถดับเพลิงไหม้ได้มากถึง 4 ประเภท ได้แก่ เพลิงไหม้ประเภทA, B, C และ K ภายในถังบรรจุน้ำสิทธิ์สูง และน้ำ PurePlus ที่มีคุณสมบัติในการดึงความร้อนออกจากเชื้อเพลิงได้เร็วกว่าการใช้น้ำปกติ ทำให้อุณหภูมิความร้อนลดลงอย่างรวดเร็ว ไม่เป็นสื่อกลางในการนำไฟฟ้า และ น้ำยา PurePlus สามารถยับยั้งกระบวนการ Pyrolysis ของเชื้อเพลิง
อีกหนึ่งคุณสมบัติพิเศษของถังดับเพลิงสูตรน้ำ คือสามารถช่วยป้องกันการปะทุของเพลิงไหม้ซ้ำ เหมาะสำหรับติดตั้งไว้ที่ อาคารสำนักงาน บ้านพัก โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม และสถานที่ทั่วไป
ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย (Clean Agent)
ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหยในถังจะบรรจุสารฮาโลตรอน (Halotron) หรือสาร HFC-236fa (FE-36) ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้สาร HFC-236fa มากกว่าเนื่องจากมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับสารฮาโลตรอน ไม่ทิ้งคราบตกค้าง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายบรรยาอากาศ โดยตัวถังจะมีลักษณะเป็นสีเขียว เพื่อเป็นการบอกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผู้ใช้งาน
ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหยสามารถใช้ดับเพลิงไหม้ประเภทA, B, C จึงเหมาะกับการใช้งานในห้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรือ เครื่องบิน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ถังดับเพลิง wet chemical (ดับไฟ class k)
ถังดับเพลิง wet chemical class k ภายในถังจะบรรจุสารดับเพลิง Potassium Acetate สำหรับใช้ดับเพลิงประเภท K หรือเพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหาร ไขมันสัตว์ ถังดับเพลิงประเภทนี้จึงเหมาะกับการดับเพลิงในครัว ร้านอาหาร โรงอาหาร เป็นต้น
ทั้งนี้มีหลายคนที่ถามว่าถังดับเพลิงมีกี่ขนาด หรือ ถังดับเพลิงมีกี่ปอนด์ ? ขนาดของถังดับเพลิงชนิดมือถือมีหลายขนาดเพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่และการใช้งาน มีตั้งแต่ขนาด ถังดับเพลิงขนาด 2 ปอนด์, 5 ปอนด์, 10 ปอนด์, 15 ปอนด์, 20 ปอนด์, 50 ปอนด์ และ 110 ปอนด์
ถังดับเพลิงโดยทั่วไปมีสีอะไรบ้าง แต่ละสีเป็นถังชนิดไหน
ถังดับเพลิงมีกี่สี มีกี่ชนิด ? โดยทั่วไปแล้วถังดับเพลิงมักมีหลายสี ซึ่งสีของถังดับเพลิงส่วนใหญ่เพื่อเป็นสัญญาลักษณ์บอกว่าเป็นถังดับเพลิงประเภทใด อุปกรณ์ดับเพลิงในปัจจุบันมีทั้งหมด 5 สี ได้แก่ ถังดับเพลิงสีแดง สีเขียว สีฟ้า สีเงิน และสีเหลือง โดยแต่ละสีมีคุณสมบัติ ดังนี้
ถังดับเพลิงสีแดง
ถังดับเพลิงสีแดง เป็นถังดับเพลิงที่ได้รับความนิยม และสามารถพบได้ทั่วไปตามอาคาร บ้านพัก และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ถังดับเพลิงสีแดง คือ ถังดับเพลิงผงเคมีแห้ง (Dry Chemical) และ ถังดับเพลิงคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ซึ่งถังดับเพลิงทั้งสองประเภทนี้มีคุณสมบัติในการดับเพลิง และสถานที่ใช้งานแตกต่างกัน
ถังดับเพลิงชนิดผงเคมี : เหมาะสำหรับติดตั้งทั่วไป ทั้งภายในและภายนอกอาคาร
ถังดับเพลิงคาร์บอนไดออกไซด์ : เหมาะสำหรับติดตั้งภายในอาคารสำนักงาน บ้านพัก โรงงาน และห้องเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ถังดับเพลิงสีเขียว
ถังดับเพลิงสีเขียว คือ ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย (Clean Agent) เหมาะสำหรับติดตั้งภายในอาคาร ห้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเมื่อฉีดออกมาสารเคมีจะระเหยไปในอากาศจะไม่ทิ้งคราบตกค้าง ช่วยประหยัดเวลาในการทำความสะอาด และที่สำคัญถังดับเพลิงสีเขียวไม่ส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผู้ใช้งาน
ถังดับเพลิงสีน้ำเงินหรือสีฟ้า
ถังดับเพลิงสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน คือ ถังดับเพลิงสูตรน้ำ หรือ ถังดับเพลิงชนิดละอองน้ำแรงดันต่ำ เหมาะสำหรับติดตั้งภายในบ้านพัก อาคารสำนักงาน ทั้งนี้นอกจากถังดับเพลิงสูตรน้ำแล้ว บางยี่ห้อถังดับเพลิงสีฟ้าอาจจะคือถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหยที่มีส่วนประกอบของ HCFC-123 ด้วย
ถังดับเพลิงสีเงินหรือสีขาว
ถังดับเพลิงสีเงิน คือ ถังดับเพลิงชนิดโฟม โดยตัวถังจะเป็นสแตนเลส เนื่องจากภายในถังบรรจุน้ำที่เป็นส่วนประกอบหลัก AR-AFFF เหมาะสำหรับติดตั้งภายในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิง และสารระเหยติดไฟ และปั๊มน้ำมัน ข้อควรระวังของถังดับเพลิงชนิดโฟม คือ ไม่สามารถใช้กับเพลิงไหม้ประเภท C ได้ เพราะโฟมเป็นสื่อกลางในการนำไฟฟ้า
ถังดับเพลิงสีขาว คือ ถังดับเพลิงที่บรรจุสารดับเพลิง Potassium Acetate เหมาะสำหรับติดตั้งในร้านอาหาร โรงอาหาร ห้องครัว เป็นต้น
ถังดับเพลิงสีเหลือง
ถังดับเพลิงสีเหลือง คือ ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย ที่มีส่วนผสมของสารฮาโลตรอน (Halotron) ที่มีประสิทธิภาพในการดับไฟสูง แต่มีข้อเสียเนื่องจากสารฮาโลตรอนเป็นสาร CFC ที่ส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศ ทำให้ในปัจจุบันถูกระงับการจำหน่าย และเปลี่ยนมาใช้ถังดับเพลิงสีเขียวแทน
การเลือกถังดับเพลิงโดยดูจากคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการดับไฟ
หากคุณกำลังตัดสินใจที่จะซื้อถังดับเพลิง และไม่ทราบว่าถังดับเพลิงมีกี่ชนิด หรือ บางคนที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อถังดับเพลิง อาจจะเคยเห็นสัญญาลักษณ์ 2A-2B, 4A-10B, 10A-40B ซึ่งหลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่าคืออะไร ใช่ไหมครับ ? จริงๆ แล้วตัวเลข 1 2 3 หรือ A และ B คือการบอกประสิทธิภาพในการดับเพลิงของถังดับเพลิงนั้นเอง
Fire Rating หรือประสิทธิของการดับเพลิง ถือว่าสำคัญมากในการเลือกซื้อถังดับเพลิง ซึ่งถูกกำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ที่ได้กำหนดให้ Fire Rating เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อควบคุมคุณภาพของถังดับเพลิงและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดย มอก. 332-2537 ได้กำหนดสมรรถนะของถังดับเพลิงไว้เพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างของประสิทธิภาพในการดับเพลิง เพื่อการเลือกใช้ที่เหมาะสม โดย
A คือ ประสิทธิภาพในการดับเพลิงไหม้ประเภท A เช่นไม้ กระดาษ ผ้า พลาสติก เป็นต้น
B คือ ประสิทธิภาพในการดับเพลิงไหม้ประเภท B mี่เป็นของเหลว เช่น น้ำมัน ก๊าซติดไฟ เป็นต้น
ซึ่งตัวเลข 1 2 3 4 ยิ่งตัวเลขมีจำนวนมากเท่าไหร่ประสิทธิภาพในการดับเพลิงจะมากขึ้นตามไปด้วยเช่นเดียวกัน
วิธีการใช้งานถังดับเพลิงที่ถูกต้อง
วิธีการใช้ถังดับเพลิง ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องยากมีเพียงแค่ ดึง ปลด กด และส่าย โดยมีรายละเอียดวิธีใช้ถังดับเพลง ดังนี้
- เข้าไปทางเหนือลม โดยเว้นระยะห่างจากเพลิงไหม้ประมาณ 2 – 3 เมตร และดึงสลักออกจากถังดับเพลิง หากไม่สามารถดึงสลักออกได้ ให้ใช้การบิดช่วย
- ปลดสายฉีดของถังดับเพลิงออก และยกหัวฉีดชี้ไปที่ฐานของเพลิง โดยทำมุมประมาณ 45 องศา
- กดคันบีบของถังดับเพลิงเพื่อให้สารเคมีที่บรรจุภายในถังพุ่งออกมา
- ส่ายปลายหัวฉีดไปมาที่ฐานเพลิงไหม้ ไม่แนะนำให้ฉีดบริเวณเปลวเพลิง
คำแนะนำ :
- หากเกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่ต่างระดับให้ฉีดจากข้างล่างขึ้นข้างบน
- กรณีน้ำมันรั่วไหลให้ฉีดจากปลายทางที่รั่วไปจุดที่รั่วไหล
- กรณีเพลิงไหม้ที่สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลเวียนอยู่ จำเป็นต้องตัดกระแสไฟก่อน
วิธีตรวจเช็คสภาพถังดับเพลิงโดยทั่วไป
โดยทั่วไปถังดับเพลิงจำเป็นต้องตรวจสภาพทุกๆ 6 เดือน โดยผู้ตรวจจำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับถังดับเพลิงทุกประเภท หรือ ตัวแทนจำหน่ายถังดับเพลิงที่มีความเชี่ยวชาญ โดยวิธีตรวจเช็คสภาพถังดับเพลิง มีดังนี้
ตรวจสอบสลักและสายฉีด
ตรวจสอบกระดูกงู สลัก โดยกระดูกงู สลัก และฟอยล์สีเงินจำเป็นต้องอยู่ครบ สายฉีดต้องไม่มีรอยแตกร้าว สภาพตัวถังต้องปกติ ไม่บุบ ไม่บวม และไม่ขึ้นสนิม และหัวฉีดต้องไม่อุดตัน หากพบอาการผิดปกติต้องแก้ไขทันที
ตรวจสอบคันบีบและข้อต่อ
คันบีบ และข้อต่อของถังดับเพลิงต้องไม่คดงอ ไม่ขึ้นสนิม หากพบว่าคันบีบ หรือ ข้อต่อของถังดับเพลิงผิดปกติจำเป็นต้องแก้ไข หรือส่งให้ตัวแทนจำหน่ายซ่อม
ตรวจสอบสภาพถังดับเพลิง
ตัวถังดับเพลิงจำเป็นต้องไม่มีรอยบุบ ไม่แตกร้าว สติ๊กเกอร์บนถังดับเพลิงต้องไม่ฉีดขาด หรือจาง รายละเอียดข้อมูลต้องครบถ้วน
ตรวจสอบเกจมาตรวัดหรือชั่งน้ำหนักถัง
จำเป็นต้องตรวจเกจมาตรวัด โดยสังเกตได้จากเข็มต้องอยู่ระหว่างแถบสีเขียว กระจกต้องไม่เป็นฝ้า กระจกไม่แตกร้าว ไม่คดงอ หากผิดว่าเกจมาตรวัดผิดปกติ จำเป็นต้องส่งซ่อมกับตัวแทนจำหน่ายทันที
ในการตรวจสภาพถังดับเพลิง จำเป็นต้องลงวันที่ตรวจ ชื่อ หรือลายเซ็น ในช่องผู้ตรวจให้ครบถ้วน และถ้าหากกรณีเกิดการกระทบอย่างรุนแรงกับถังดับเพลิง ควรนำถังดับเพลิงไปตรวจเช็คสภาพใหม่
อายุการใช้งานของถังดับเพลิง :
- ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง มีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี
- ถังดับเพลิงคาร์บอนไดออกไซด์ และถังดับเพลิงน้ำยาเหลวระเหย มีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี
สรุปถังดับเพลิงชนิดไหน สีใด เหมาะกับการดับไฟประเภทไหน
นอกจากคำถามว่า ถังดับเพลิงมีกี่ชนิด ยังมีคำถามที่ถามว่า ถังดับเพลิงแต่ละชนิดเหมาะกับการดับไฟประเภทไหนบ้าง โดยถังดับเพลิงแต่ละชนิดสามารถดับเพลิงได้ ดังนี้
- ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (ถังดับเพลิงสีแดง) ใช้ดับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุเพลิงประเภท A, B และ C ได้แก่ ไม้ ผ้า กระดาษ พลาสติก น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม จาระบี และอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น
- ถังดับเพลิงน้ำยาเหลวระเหย (ถังดับเพลิงสีเขียว) ใช้ดับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุเพลิงประเภท A, B และ C เหมือนถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ได้แก่ ไม้ ผ้า กระดาษ พลาสติก น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม จาระบี และอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น แต่ถังดับเพลิงน้ำยาเหลวระเหยจะไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังจากการใช้งาน
- ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ถังดับเพลิงสีแดง ปลายสีใหญ่พิเศษ) ใช้ดับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุเพลิงประเภท B และ C เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซหุงต้ม จาระบี และอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น
- ถังดับเพลิงชนิดโฟม (ถังดับเพลิงสีเงิน สแตนเลส) ใช้ดับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุเพลิงประเภท A และ B เช่น ทินเนอร์ สารระเหยติดไฟ
- ถังดับเพลิงสูตรน้ำ low pressure water mist (ถังดับเพลิงสีน้ำเงิน) ใช้ดับเพลิงไหม้ที่มาสาเหตุเพลิงประเภท A, B, C และ K ได้แก่ ไม้ ผ้า กระดาษ พลาสติก น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม จาระบี อุปกรณ์ไฟฟ้า และน้ำมันประกอบอาหาร เป็นต้น
- ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (ถังดับเพลิงสีฟ้า) ใช้ดับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุเพลิงประเภท A เช่น พลาสติกกระดาษ ไม้ผ้า นุ่น ยาง เป็นต้น
- ถังดับเพลิงชนิด wet chemical (ถังดับเพลิงสีขาว) ใช้ดับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุเพลิงประเภท K เช่น น้ำมันในการประกอบอาหาร และไขมันสัตว์
สวัสดีค่ะ สนใจถังดับเพลิงมาติดไว้ที่โครงการคอมมูนิตี้ค่ะ
คอมมูนิตี้ชื่อ OURS ภายในโครงการจะมีร้านทำผม ร้านไวน์ ร้านเครป ร้านเสื้อผ้า ร้านขนมเบเกอรี่ ร้านทำเล็บ และคลีนิคเสริมความงามค่ะ
อยากได้คำแนะนำเลือกซื้อถังดับเพลิงให้เข้ากับประเภทของของพื้นที่ด้วยค่ะ
โดยทั่วไปถ้าเป็นเครื่องดับเพลิงที่นิยมติดไว้ตามสถานที่อยู่พักอาศัยโดยทั่วไป หรือร้านค้าทั่วไป จะเป็นเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งครับ แต่เครื่องดับเพลิงชนิดของเคมีแห้งก็จะมีข้อเสียคือเมื่อใช้แล้วจะทิ้งคราบฝุ่นสกปรกเลอะเทอะ ทางลูกค้าอาจจะพิจารณาใช้เป็นเครื่องดับเพลิงสูตรน้ำเพื่อลบข้อบกพร่องข้อนี้ก็ได้ครับ หากลูกค้าต้องการสอบถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อผ่าน line หรือโทรติดต่อเข้ามาได้เลยครับ
แล้วเพลิงแบบ D ควรจะใช้ถังดับเพลิงประเภทไหนครับ
สารเคมีดับเพลิงที่นิยมใช้ในเครื่องดับเพลิงเฉพาะสำหรับไฟประเภท D โดยทั่วไปจะเป็น โซเดียมคลอไรด์ ผงCopperและผงกราไฟล์ครับ
Pingback: ถัง ดับ เพลิง ประเภท? | Top Q&A ล่าสุด 2022 - Share 99 Health Blog
สวัสดีครับ ขอสอบถามถังดับเพลิง สารเคมีเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าครับ ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินมีไฟไหมลุกลามในตัวรถยนต์ไฟฟ้า เราควรใช้ถังดับเพลิงชนิดแบบไหน และ เหมาะสมในการใช้งานกับสารเคมีที่ถูกต้องครับ ขอบคุณครับ
ในปัจจุบัน จะมีน้ำยาดับเพลิง ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า AVD (Aqueous Vermiculite Dispersion) ซึ่งเป็นน้ำยาดับเพลิงที่ออกแบบมาเพื่อใช้ดับไฟที่เกิดจาก แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โดยเฉพาะ ครับ โดยน้ำยาตัวนี้จะทำการปล่อย ไอละออง ออกมาเมื่อสัมผัสกับความร้อนที่สูงขึ้น สาร เคมีนี้ไม่เป็นพิษต่อคน,พืช, และสัตว์ครับ
หลักการทำงานของ สารดับเพลิงชนิดนี้ก็คือ เมื่อเราฉีดพ่นสารดับเพลิงชนิดนี้ในรูปแบบของ ฝอยละอองน้ำ มันจะเข้า ทำการลดอุณหภูมิ ของแบตเตอรี่ ลิเธียมไอออนอย่างฉับพลัน และทำให้เปลวไฟล้มลงครับ และสารAVD จะเข้าทำการ เคลือบเชื้อเพลิงและสร้างเป็นชั้นปกคลุมรอบแบตเตอรี่ เพื่อป้องกันการ ไม่ให้ เตรียมเข้ามาสัมผัส เชื้อเพลิง และส่งผลให้ ต้องการ การ ติดต่อลุกลามไฟ ครับ
ในเร็วๆนี้ ทางบริษัท ซานโต ไฟร์ โปรดักท์ จำกัด กำลังจะ นำเครื่องดับเพลิงชนิดนี้ มา นำเสนอให้กับกลุ่มลูกค้า ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ครับ
Pingback: ถัง เคมี ดับ เพลิง・อัพเดทล่าสุดในปี 2023 - Orchivi.net
สวัสดีค่ะ บริษัทที่ทำอยู่เป็นบริษัทเปิดใหม่เป็นห้องเย็นที่ต้องเก็บสินค้า ควรใช่ถังประเภทไหนดีค่ะ
ผมเห็นข่าวถังดับเพลิง Co2 ระเบิดในช่วงนี้ รู้สึกไม่ปลอดภัยครับ เลยขอความรู้ เพราะที่ร้าน (ที่บ้าน/เป็นคลีนิครักษาโรคเบื้องต้น) ต้องมีถังดับเพลิงไว้ตามมาตรฐาน ซึ่งเราใช้เป็นถังเคมีแห้ง และเมื่อหมดอายุเคมีแห้งแล้วเราก็ไปทำการเปลี่ยนเคมีครับ ไม่รู้ว่าจะปลอดภัยแค่ไหน โอกาสระเบิดมีแค่ไหนกันครับ เพราะเขาก็ใช้ถังเดิมเลยอยากขอความรู้หน่อยครับ
ครับ แอดเข้าใจถึงความวิตกกังวลของทางคุญจรัญดีครับ แต่แอดอยากจะให้คุณจรัญหายจิตกจนเกินไปครับ เนื่องจากว่า เครื่องดับเพลิงที่อยู่ในข่าว เป็น เครื่องดับเพลิงชนิด ก๊าซco2 ซึ่งมีแรงดันภายในถังสูง สูงกว่าถังชนิดอื่นทั่วไปมากครับ โดยปกติ เครื่องดับเพลิง Co2 จะมีแรงดันภายในถังประมาณ 800-900 ปอนด์ ต่อ ตารางนิ้ว ในขณะที่ ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง มีแรงดันภายในแค่ 195 ปอนด์ ต่อ ตารางนิ้ว วึ่งห่างกันหลายเท่าครับ รวมทั้งเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งจะมีเกจ์วัดแรงดันบ่งบอกถึงแรงดันภายในถังอยู่ครับ หากแรงดันภายในถังมันสูงเกินไป คุณจรัญจะสามารถเห็นเกจ์มันเอนไปทางขวาแบบชัดเจน ซึ่งในขณะนั้นคุณจรัญสามารถโทรเข้ามาที่ทาง Santo เราไปเปลี่ยนน้ำยา หรือ จัดการกับถังได้ครับ ในทางกลับกัน เครื่องดับเพลิงชนิด Co2 มันไม่มีเกจ์วันแรงดันบอกแรงดันภายในครับ เราจึงไม่สามารถดูแรงดันภายในได้ว่า มันสูงถึงขั้นอันตรายหรือยัง
สรุป คุณจรัญดูเฉพาะเกจ์วัดแรงดันที่บริเวณคันบีบของถังว่า มันยังชี้อยู่ใน บริเวณสีเขียว หรือไม่ ถ้ามันยังอยู่ก็ถือว่า ปลอดภัยดีครับ
Pingback: ถัง ดับ เพลิง มี กี่ ประเภท ?
Pingback: อัคคีภัย – Haluan Thailand